ภาคธุรกิจเตรียมรับกฎหมายใหม่ EPR บังคับทำแผนกำจัดขยะพลาสติก

ภาคธุรกิจเตรียมรับกฎหมายใหม่ EPR บังคับทำแผนกำจัดขยะพลาสติก

ปรับตัวครั้งใหญ่รัฐ-เอกชน จับมือร่างกฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) ให้เสร็จภายใน 1-2 ปี ทุกบริษัทต้องทำแผนความรับผิดชอบของผู้ผลิต การกำจัดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก ตามหลัก Circular Economy ต้องบังคับประชาชนคัดแยกขยะ

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 นายจิรัตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยในงานสัมมนา “EPR ทางรอดของธุรกิจไทย และการมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน” ว่า

ในกลุ่มประเทศสมาชิกในยุโรปปัจจุบันได้มีข้อกำหนดนโยบายหลัก และออกเป็นกฎระเบียบบังคับให้บริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกและวางขายในท้องตลาด ต้องจัดทำแผนการกำจัดบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจน มีการกำหนดเรื่องของกระบวนการผลิตซึ่งจะถูกตรวจสอบตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ ว่านำมาจากไหนสร้างผลกระทบต่อชุมชนและสังคมหรือไม่ สารที่ใช้เป็นส่วนประกอบบรรจุภัณฑ์ และแน่นอนว่าบรรจุภัณฑ์จะต้องนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่ใช่แบบใช้ครั้งเดียว (Single use)

รวมถึงการต้องทำสัญลักษณ์หรือฉลากบนถุงที่ย่อยสลายได้ และภายในปี 2567 ประเทศสมาชิกจะต้องเข้าร่วม “โครงการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)” เพื่อให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ตลอดช่วงชีวิตของบรรจุภัณฑ์

โดยทยอยเพิ่มสัดส่วนการนำกลับมารีไซเคิลของบรรจุภัณฑ์แต่ละประเภทเพิ่มขึ้นทุก ๆ 5 ปี เช่น บรรจุภัณฑ์ทุกประเภทในปี 2568 ต้องรีไซเคิลให้ได้ 65% และปี 2573 เพิ่มเป็น 70%, พลาสติกจาก 50% เพิ่มเป็น 55%, อะลูมิเนียม จากไม่มีเลยในปี 2568 จะต้องมีสัดส่วน 50% และเพิ่มเป็น 60% ในปี 2573

ล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้พัฒนากรอบกฎหมายใหม่ว่าด้วยผลิตภัณฑ์ที่ยังยืน ตามแผนการหมุนเวียนเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม เช่น การออกแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติก และการจัดการกับขยะ เป็นต้น

และแม้ในขณะนี้สหภาพยุโรป จะยังไม่บังคับใช้กฎหมายนี้กับประเทศที่ 3 ที่เป็นคู่ค้าส่งออกมายังยุโรป แต่ในอนาคตเชื่อว่ากฎหมายนี้จะใช้กับประเทศคู่ค้าแน่นอน ซึ่งนั่นหมายถึงภาคธุรกิจในไทยจะต้องปรับตัวและเรียนรู้กฎหมายฉบับนี้ ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อไม่ให้เป็นการถูกกีดกันทางการค้าอีกรูปแบบหนึ่ง

นายนภดล ศิวบุตร รองประธาน สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือ TIPMSE กล่าวว่า ขณะนี้รัฐและเอกชนเองได้ร่วมกันให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป เพื่อให้มีความเข้าใจเรื่องความสำคัญของกลไก EPR ในการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy : CE) และเป็นการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน

โดยเฉพาะการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Brand owner) เพื่อนำบรรจุภัณฑ์หลังบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ที่ไม่ใช่เฉพาะจำกัดแต่เพียงผู้ผลิต แต่รวมถึงผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ผู้จัดเก็บรวบรวม หน่วยงานรัฐ องค์กรอิสระ ที่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมา ขยะที่เกิด ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจจะมีการหารือกับกระทรวงการคลัง ถึงมาตตรการส่งเสริมดังกล่าว เช่น หากมีการลงทุนเรื่องของ EPR เอกชนสามารถหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ หรือการลดหย่อนค่าธรรมเนียมหากบริษัทจะต้องดำเนินการใด ๆ กับทาง ก.ล.ต. ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ภาคธุรกิจต้องทำแผนตั้งแต่กระบวนการ การกำจัดบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น โดยคาดว่าจะใช้เวลาร่างกฎระเบีย 1-2 ปี และจะผลักดันให้เป็นกฎหมาย

“อุปสรรคของเรื่องนี้ คือ ระบบการจัดการขยะของประเทศไทย ไม่มีกฎหมายให้ภาคประชาชนคัดแยกในครัวเรือน ยังไม่มีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วม การสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในการคัดแยก ภาคอุตสาหกรรมรีไซเคิลยังไม่มีเทคโนโลยีรองรับ หน่วยงานรับผิดชอบมีหลายหน่วยงาน กรอบกฎหมายสำหรับ EPR หรือ Regulatory Framework และความมั่นคงของนโยบายภาครัฐที่หากเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายจะเปลี่ยนตามหรือไม่”

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวง ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมมือกันในการจัดทำนโยบาย EPR ที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญ

ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะจากขยะบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตามการนำ EPR ไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาขยะโดยเฉพาะพลาสติกยังคงเป็นความสมัครใจ ซึ่งระยะต่อไปทาง กรมควบคุมมลพิษ กำลังพิจารณาที่จะยกร่างเป็นกฎระเบียบหรือกฎหมายให้เกิดการบังคับใช้ในอนาคต เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

“TIPMSE ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนผลักดันการนำ EPR มาใช้ซึ่งยังเป็นภาคสมัครใจเพื่อเร่งแก้ปัญหาขยะพลาสติกตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม รวมถึงบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ เช่น แก้ว กระดาษ ที่การใช้มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง และความร่วมมือครั้งนี้ยังเป็นการเตรียมพร้อมก่อนที่จะมีมาตรการ และกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งในต่างประเทศได้มีการนำระบบ EPR นำมาใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันตามบริบทของประเทศ

ดังนั้นไทยต้องกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนต่อความรับผิดชอบ และการสร้างจิตสำนึกในด้านการจัดการพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ ให้กับทุกกลุ่มในภาคสังคมรวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์ และรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและร่วมรับมือลดภาวะโลกร้อน”

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ธ.ค. 2564 ภายใต้โครงการ PackBack…เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน ได้เกิดขึ้นโดย TIPMSE ร่วมมือกับ 50 องค์กร ภาครัฐ เอกชน ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวม โรงงานรีไซเคิล และเทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึงและเทศบาลตำบลเกาะสีชัง

เริ่มโครงการนำร่องในพื้นที่ จ.ชลบุรี ส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้ศึกษารูปแบบ EPR ในการจัดการกับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้บรรจุภัณฑ์หมุนเวียนกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-939245

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.

This website uses cookies to improve user experience. By using our website you consent to all cookies in accordance with our privacy policy. เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Performance

    Performance cookies are used to see how visitors use the website, eg. analytics cookies. Those cookies cannot be used to directly identify a certain visitor.

บันทึกการตั้งค่า