นี่คือทางรอด ! CIRCULAR ECONOMY วิถีชีวิตและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นี่คือทางรอด ! CIRCULAR ECONOMY วิถีชีวิตและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทรัพยากรของโลกเรานั้นร่อยหรอขึ้นทุกวัน ในทุก ๆ หนึ่งวินาทีเรากำลังสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญไป โดยที่แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมันคุ้มค่าเท่าที่มันควรจะเป็น

ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ของโลกใบนี้ยังคงขับเคลื่อนธุรกิจต่าง ๆ บนฐานคิดของระบบเศรษฐกิจเป็นแบบเส้นตรง (Linear Economy) ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องผลกำไรเป็นอันดับแรก นั่นทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาล ผลลัพธ์โดยตรงจากลัทธิบริโภคนิยมดังกล่าวทำให้เกิดของเหลือทิ้งและของเสียปริมาณมหาศาลที่ตกค้างอยู่ในระบบนิเวศ หากเราลองกลับไปมองพฤติกรรมดังกล่าวอย่างตั้งใจ ก็น่าชวนให้เราตั้งคำถามขึ้นในใจว่า “หรือพวกเราไม่เคยใส่ใจเลยด้วยซ้ำว่าทรัพยากรของโลกใบนี้ก็มีวันหมด และมันจะหมดไปจากโลกเมื่อไร ถ้าเรายังถลุงใช้มันกันอย่างไร้สติแบบนี้”

แต่ในกระแสอันถาโถมของการใช้ทรัพยากรอย่างบ้าคลั่ง ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องการขาดแคลนทรัพยากร หันกลับมาทบทวนโมเดลเศรษฐกิจปัจจุบัน และพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่เปรียบได้กับทางรอดของทั้งเราและทั้งโลก นั่นก็คือ ‘Circular Economy’ หรือ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’

 

แล้วอะไรคือ Circular Economy 

ถ้าแปลอย่างตรงตัวและให้เข้าใจง่าย ก็คือระบบเศรษฐกิจที่ต้องการให้เราใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดในทุกกระบวนการ แทบทุกขั้นตอนไม่ควรมีอัตราการเกิดของเสีย หรือมีได้แต่ควรน้อยที่สุด เพื่อให้ทั้งกระบวนการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

Circular Economy ให้ความสำคัญเรื่องการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ แทนที่วิถีปฎิบัติรูปแบบเดิมที่เป็นการ “ผลิต-ใช้-ทิ้ง” ซึ่งเป็นรูปแบบเชิงอุตสาหกรรมที่เน้นกำไรมากกว่าความยั่งยืน พูดมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเข้าใจเศรษฐกิจหมุนเวียน ก็คือ “การรีไซเคิล” แบบที่เรารู้จักกันอยู่แล้วหรือเปล่า ? บทความนี้บอกได้เลยว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในแนวคิดย่อยเท่านั้น เพราะเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ยังครอบคลุมไปถึงการออกแบบและการบริการที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบเชิงลบให้มากที่สุดด้วย

 

เศรษฐกิจโลกตกต่ำ นำมาซึ่งแนวคิดใหม่

แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เกิดขึ้นราวๆ ทศวรรษ 1970 ซึ่งในช่วงนั้นหลายประเทศเริ่มตระหนักแล้วว่า ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศของตนเอง รวมถึงทรัพยากรที่ต้องนำเข้ามานั้นมีจำกัด เห็นได้ชัดจากราคาวัตถุดิบที่ขยับตัวสูงขึ้น ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับกำไรสุทธิที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy)

และเมื่อภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศเหล่านี้ลองนำแนวคิดเรื่อง Circular Economy มาใช้ พวกเขาก็พบว่า นอกจากจะทำให้ทรัพยากรของพวกเขาถูกนำมาใช้อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนแล้ว โมเดลดังกล่าวยังสร้างความรับผิดชอบต่อโลก แถมยังก่อเกิดผลกำไรที่เติบโตขึ้นในระยะยาวอีกด้วย

 

แนวคิด Circular Economy มีอะไรบ้าง และดีอย่างไร

ว่ากันอย่างง่าย ๆ Circular Economy ประกอบด้วย 8 หลักการที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการผลิตไปจนถึงปลายทาง ได้แก่

  1. Durability (ทนทาน ใช้งานได้นานขึ้น) การผลิตหรือออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์เพื่อให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น โดยการเพิ่มความคงทน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดใช้ทรัพยากร หรือลดของเสียจากซากเหลือทิ้ง
  2. Renewability (นำวัสดุที่สร้างทดแทนใหม่ได้มาใช้ในการผลิต) การผลิตหรือการออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ โดยการนำวัสดุที่ประกอบด้วยชีวมวลที่มาจากสิ่งมีชีวิต หรือที่สามารถสร้างทดแทนได้อย่างต่อเนื่องมาใช้ในการผลิต
  3. Reuse (ใช้ซ้ำได้หลายครั้งตลอดอายุการใช้งาน) การผลิตหรือออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้งตลอดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์
  4. Repair (บำรุงรักษาหรือซ่อมแซมได้ตลอดอายุการใช้งาน) คุณลักษณะของการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อสามารถทำการบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมได้ เมื่อเกิดความเสียหายเพื่อยืดอายุการใช้งาน
  5. Replacement (เปลี่ยนหรือทดแทนการใช้วัสดุแบบเดิม) การผลิตหรือออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อเปลี่ยนหรือทดแทนการใช้วัสดุแบบเดิม ที่อาจใช้ได้ครั้งเดียวหรือมีสารอันตราย หรือเป็นวัตถุดิบที่อยู่ในภาวะวิกฤตด้วยการใช้วัสดุทางเลือกหรือการใช้วัสดุทางเลือกหรือการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิต
  6. Upgrade (เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน) การเพิ่มประสิทธิภาพของซอฟต์แวร์หรืออุปกรณ์บางชิ้นของผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน โดยไม่ต้องซื้อหรือผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่
  7. Refurbishment (การปรับปรุงเป็นของใหม่) การซ่อมแซมหรือปรับปรุงสินค้าที่ได้รับความเสียหายหรือเกิดตำหนิ โดยส่งคืนกลับไปยังผู้ผลิต พร้อมรับการตรวจสอบตามมาตรฐานของโรงงานอีกครั้งหนึ่ง แล้วกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง โดยบ่งบอกข้อความกำกับไว้เพื่อแจ้งให้ผู้ซื้อทราบ
  8. Reduced Material Use (ลดปริมาณวัสดุที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ) การผลิตหรือออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดปริมาณวัสดุที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต การจัดจำหน่าย การกระจายสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องบริการ

ข้อดีที่สุดของระบบเศรษฐกิจแบบนี้ก็คือ การทำให้ต้นทุนสินค้าต่ำลง เพราะแหล่งที่มาและการได้มาซึ่งวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามมาด้วยการสร้างมลภาวะน้อยลง โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่สุดอย่างการปล่อยคาร์บอน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยลง ถือเป็นการสร้าง Carbon Footprint ที่น้อยลงจากระบบเศรฐกิจเดิมที่แทบจะทำลายโลกเรามาก

นอกจากนี้ยังลดปัญหาการขาดแคลนสินค้า อย่างที่บอกว่านี่คือการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด เมื่อโลกเผชิญกับปัญหาทรัพยากรหมด การหมุนเวียนในระบบให้สามารถใช้ทรัพยากรให้ได้คุ้มประสิทธิภาพของมันที่สุดจึงเป็นเรื่องจำเป็น

และที่ดูจะขัดแย้งกับเศรษฐกิจแบบเดิมมากที่สุดก็คือ เศรฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สามารถสร้างงานสร้างรายได้ได้มากกว่าอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ หลายประเทศที่ร่ำรวยขึ้นไม่ใช่เพราะพวกเขาค้ากำไรได้มากขึ้น แต่เป็นเพราะพวกเขารู้จักและเข้าใจการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรต่างหาก

 

Circular Economy เริ่มด้วยกัน เริ่มได้เลย

ปัจจุบันหลายบริษัทภาคเอกชน และภาครัฐอย่างกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป เริ่มหันมาจริงจังกับการใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะนี่คือทางรอดที่ยั่งยืนของประเทศและของโลกที่แท้จริง

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คุณต้องรู้ก่อนว่า เราอยู่ตรงไหนในกระบวนการ Circular Economy จากนั้นก็เริ่มที่การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่เสียเลย อาทิ การปรับปรุงเชิงประสิทธิภาพในการผลิต การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน การออกแบบที่ชาญฉลาด การเลือกใช้วัสดุทางเลือก

อีกอย่างที่เราเชื่อว่าหลายคนน่านึกไม่ถึงว่านี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของ Circular Economy ด้วยเหมือนกัน นั่นก็คือ ระบบการให้บริการแทนการจำหน่ายสินค้า ตัวอย่างเช่น การให้บริการซักรีด แทนการขายเครื่องซักผ้า รวมถึงระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) เช่น Airbnb หรือ Uber เป็นต้น

 

ตัวอย่างที่ดีของประเทศ Circular Economy

เราขอชี้ชวนมามองภาพใหญ่ในระดับประเทศกันก่อน อินเดีย ถือเป็นประเทศที่เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด แต่ก็ทำให้พวกเขาใช้ทรัพยากรไปมากกว่าเดิม 8 เท่า พ่วงด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 13 เท่า

แต่เมื่ออินเดียหันมาใช้ Circular Economy โดยเน้นไปที่เมืองและการก่อสร้าง อาหารและภาคเกษตร และระบบขนส่งและยานยนต์ ผลที่ได้เกินคาดก็คือการที่อินเดียจะมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อปีถึง 6.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2050 นี้

มาทางฝั่งยุโรปกันบ้าง ที่ทั้งเนเธอแลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี ก็นำเอา Circular Economy มาขับเคลื่อนประเทศในเชิงนโยบาย และออกมาเป็นการบังคับใช้ที่ไม่มีฝ่ายใดเสียผลประโยชน์เลย ซึ่งนี่เป็นการขับเคลื่อนไม่ใช่แค่แต่ละประเทศเท่านั้น แต่มันคือข้อตกลงร่วมกันของทั้งสหภาพยุโรปเลยทีเดียว

 

Circular Economy กับภาคเอกชน

ไม่ใช่แค่ภาครัฐตัวใหญ่ที่จะต้องใส่ใจกับ Circular Economy แต่ตัวเล็กอย่างภาคเอกชนก็มีพลังมหาศาลมากพอที่จะขับเคลื่อนได้เช่นกัน เรามีตัวอย่างขององค์กรต่าง ๆ ที่กำลังเคลื่อนโลกไปสู่ความยั่งยืนมาให้คุณได้อ่านกัน เผื่อนำไปประยุกต์เข้ากับองค์กรของคุณดู

 

Balbo Group – หวานนำธรรมชาติ

กลุ่มบริษัท Balbo ผู้ผลิตน้ำตาลทรายแท้ออร์แกนิก ประสบปัญหาการควบคุมการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลอย่าง อ้อย ที่มีต้นทุนสูงมาก แถมเกษตรกรก็ใช้ยาฆ่าแมลงและยากำจัดศัตรูพืชที่มีราคาสูงเพิ่มเข้าไปอีก ซึ่งส่งผลเสียต่อทั้งระบบ โดยเฉพาะสภาพทางชีวภาพของพื้นที่ปลูก และหน้าดินที่ถูกทำลายด้วยสารเคมี พวกเขาจึงหันมาทำเกษตรกรรมแบบ Regenerative Agriculture ที่กลับไปสู่ต้นกำเนิดของธรรมชาติ อีกทั้งยังผลิตพลังงานที่ใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายเอง 100% ผลที่ได้กลับมาคือ คุณภาพของดินที่ดีขึ้นและกลับมาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุอีกครั้ง มากกว่านั้นคือปริมาณการผลิตที่ทำให้ Balbo Group ครองตลาดน้ำตาลทรายแท้ออร์แกนิกที่ 34% ของทั้งโลกอีกด้วย

 

Hiut Denim – ยีนส์ยั่งยืน

เป็นธรรมดาที่คนใส่ยีนส์ทั้งหลายเลือกที่จะไม่ซักและปล่อยให้ยีนต์ตัวเก่งของคุณโทรมไปตามกาลเวลา จนกว่าจะใช้งานไม่ได้ถึงค่อยทิ้งมันไปอย่างไม่ใยดี แต่ Hiut Denim เลือกวิธีการที่ยั่งยืนกว่านั้น คือการทำยีนส์แบบ custom made ที่ออกแบบและตัดเย็บโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ ตามมาด้วยการบริการที่เน้นความใส่ตั้งแต่ระหว่างขาย ยาวไปจนถึงหลังการขาย ซึ่ง Huit การันตีด้วยการให้สิทธิ์คุณส่งยีนส์มาซ่อมฟรีเมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อให้ยีนส์นั้นอยู่กับคุณได้ยาวนานตลอดไป ไม่มีทิ้งเสียแน่นอน

 

Gerrard Street – ได้หูฟังอันใหม่ในทุกวัน

เมื่อพูดถึง Gadget สิ่งที่ไม่ยั่งยืนเลยก็คือ เมื่อคุณใช้งานมันไม่ทันไร ก็มีอันให้ต้องเปลี่ยนมาใช้รุ่นใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งนั่นก็หมายความว่ารุ่นเก่าจะถูกทิ้งกลายเป็นขยะอย่างน่าเสียดาย แต่ Gerrard Street สตาร์ทอัพจากเนเธอร์แลนด์ ก็ทำให้หูฟัง ที่คนเปลี่ยนกันง่ายเหลือเกิน กลายเป็นของอยู่ยาว ด้วยรูปแบบการผลิตแบบ modular หรือถอดประกอบได้ พร้อมด้วยฟังก์ชั่น no glue ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขา 85% สามารถอัพเกรดเป็นรุ่นใหม่เพียงแค่เติมอะไหล์อื่นๆ เข้าไปเท่านั้นเอง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็มากับคุณภาพเสียงระดับท็อป สายฟังเพลงทั้งรักและรักษ์โลกไปพร้อม ๆ กัน เก๋จริง ๆ

 

Philips – บริการแสงแด่คุณ

กว่าจะได้มาซึ่งแสงนั้นต้องผ่านกระบวนการมากมาย ไหนจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเข้ามาอีก แต่ฟิลิปส์ ยักษ์ใหญ่แห่งแสงไฟพาคุณเข้าสู่ Circular Economy ด้วยบริการแสงเสียเลย เพราะฟิลิปส์ขึ้นชื่อเรื่องความครบวงจรอยู่แล้ว จึงเปิดโอกาสให้คุณได้ ‘ซื้อแสง’ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหลอดไฟ เพราะฟิลิปส์ให้บริการหลอดไฟพร้อมกับแพ็คเกจภาคต่อ ให้คุณเลือกได้ว่า จะใช้ไฟต่อ จะปรับรูปแบบแสง หรือจะอัพเกรดแหล่งที่มาของแสง ซึ่งนี่ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถประหยัดค่าซ่อมแซมไปได้มากถึง 60% (เพราะภาระไม่ได้ตกอยู่ที่ผู้ใช้แสงอีกต่อไป) โมเดลนี้ถูกใช้ในสถานที่สาธารณะหลายแห่ง อาทิ ท่าอากาศยาน Schiphol ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม และ National Union of Students ที่อังกฤษ

 

SCG – จับมือกับภาครัฐพาคุณสู่ความยั่งยืน

ในไทยเราใช่ว่าจะไม่มีองค์กรไหนที่ตระหนักเรื่อง Circular Economy ตัวอย่างที่น่าสนใจก็เช่น SCG ซึ่งเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทาง SCG เองก็ได้คิดค้นนวัตกรรมที่ลดการใช้วัสดุตั้งต้น แต่ยังมีคุณสมบัติและการใช้งานที่ได้มาตรฐานและดียิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาไลน์สินค้าใหม่ ๆ ที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ นอกจากนี้บริษัทยังได้ลงนามความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ในการจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายลดขยะพลาสติกให้ได้ 50% ในช่วงเวลา 10 ปี ที่เห็นชัดที่สุด คือการจับมือกับภาครัฐ อย่างกรุงเทพมหานคร ร่วมกันสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมกับประชาชน

อ่านกันมาจบถึงย่อน้าสุดท้ายนี้ เราขอถอดสิ่งที่เราเล่าให้ฟังทั้งหมดออกมาเป็นคีย์เวิร์ดจำง่าย ประยุกต์ได้กับทุกรูปแบบการใช้ชีวิต นั่นก็คือ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” เพียงเท่านี้ คุณก็เป็นหนึ่งในฟันเฟือง ที่ช่วยขับเคลื่อนให้บ้านเรา เข้าสู่การเป็นประเทศ Circular Economy ที่ยั่งยืนแล้วล่ะ

อ้างอิง

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.

This website uses cookies to improve user experience. By using our website you consent to all cookies in accordance with our privacy policy. เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Performance

    Performance cookies are used to see how visitors use the website, eg. analytics cookies. Those cookies cannot be used to directly identify a certain visitor.

บันทึกการตั้งค่า