วายร้ายหรือที่รัก: พลาสติก และโควิด-19 ตอนที่ 2

วายร้ายหรือที่รัก: พลาสติก และโควิด-19 ตอนที่ 2

ในบทความหัวข้อ วายร้ายหรือที่รัก: พลาสติก และโควิด-19 ตอน 1 ได้เล่าย้อนไปถึงความตั้งใจดีของ ลีโอ เบคแลนด์ (Leo Baekeland) ที่ได้สังเคราะห์ ‘เบเคอไลต์ (Bakelite)’ ตัวเลือกที่ใช้เป็นวัสดุทดแทนในการผลิตข้าวของเครื่องใช้ชนิดต่าง ๆ โดยมี ‘ถุงพลาสติกหูหิ้ว (T-shirt plastic shopping bags)’ ของสเตียน กุสตาฟ ทูลิน (Sten Gustaf Thulin) เป็นมุดหมายที่แสดงถึงความนิยมสูงสุดในการใช้วัสดุมหัศจรรย์นี้ของสังคมมนุษย์ รวมถึงการนำพลาสติกไปใช้ให้เกิดในวงการต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่สวนทางกับการพัฒนาระบบการจัดการของเหลือที่เกิดจากวัสดุชนิดนี้ จนนำมาสู่ปัญหาเรื่อง ขยะพลาสติก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง และต่อเนื่องมาแม้ในท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19

โควิด–19: เหรียญสองด้านของพลาสติก
รายงานของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาของการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ปริมาณของขยะมูลฝอยรวม (solid waste) ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวมีปริมาณลดลง โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครลดลง 11 % คือจากปริมาณขยะมูลฝอยรวมปกติ 10,560 ตันต่อวัน เป็น 9,370 ตันต่อวัน, ภูเก็ตลดลงลด 13% จาก 970 ตันต่อวัน เป็น 840 ตันต่อวัน, นครราชสีมาลดลง 19% ลดลงจาก 240 ตันต่อวัน เป็น 195 ตันต่อวัน และเมืองพัทยาลด 55% จาก 850 ตันต่อวัน เป็น 380 ตันต่อวัน เป็นต้น แต่เมื่อวิเคราะห์เฉพาะปริมาณของ ขยะพลาสติก ที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกันนี้ ตัวเลขกลับโตสวนทางในเกือบทุกจังหวัดของประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ

ตามไทมไลน์ช่วงต้นของการเกิดโรคระบาด จะเห็นว่าร้านกาแฟ ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งประกาศงดรับภาชนะใช้ซ้ำของลูกค้าเพื่อป้องกันและลดการแพร่กระจายของไวรัส นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาใช้ภาชนะพลาสติกที่ส่วนใหญ่ถูกใช้งานเพียงแค่ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ที่อาจจะเป็นส่วนสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะพลาสติกในระยะเวลาต่อมา และเมื่อคนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตและทำงานกันที่บ้านจากการประกาศล็อคดาวน์ของรัฐบาล การสั่งของกิน-ของใช้แบบเดลิเวอรี่จึงโตขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย จนทำให้ปริมาณขยะภาชนะพลาสติกพุ่งสูงถึง 300% (แตกต่างจากตัวเลขที่สถาบันสิ่งแวดล้อมประเมิณไว้ที่ 10 – 20% ในสถานการณ์ปกติ) ความจริงข้อนี้ถูกทำให้น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นจากรายงานของกรุงเทพมหานครที่ระบุว่า ในเดือนเมษายน 2563 มีปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมด 3,440 ตัน/วัน (37% ของปริมาณขยะทั้งหมด 9,370 ตันต่อวัน) เพิ่มขึ้นจากปี 2562 (2,120 ตันต่อวัน) ที่ 1,320 ตัน/วัน (เพิ่มขึ้นประมาณ 62%) ประกอบด้วยขยะพลาสติกรีไซเคิลได้ 660 ตัน/วัน (19%) และขยะพลาสติกปนเปื้อน 2,780 ตัน/วัน (81%) นี่ยังไม่นับรวมตัวเลขจากขยะติดเชื้อที่ส่วนใหญ่จะเป็นหน้ากากอนามัยใช้แล้วโดยมีปริมาณรวมทั้งหมดที่ประมาณ 50 ตันต่อวัน ในขณะที่สภาวะปกติมีขยะติดเชื้ออยู่ที่ 43 ตันต่อวันเท่านั้น

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะเห็นกระแสข่าวในประเด็นดังกล่าวออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งในบางข่าวมมีการระบุไปถึงขั้นที่ว่า “การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะสร้างมลพิษพลาสติกและวิกฤตการจัดการของเสียระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม” แต่ถ้ามองออกไปให้เห็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญจะเห็นว่าพลาสติกมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยลดและคลี่คลายความรุนแรงของโรคระบาดได้ สิ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้งสำหรับการแพทย์ (Medical disposable face masks) ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หน้ากากชนิดนี้ทำขึ้นจากแผ่นใยสังเคราะห์ (Non-woven fabric) ประกอบด้วย 3 ชั้น โดยชั้นที่มีความสำคัญที่สุดคือชั้นกลาง หรือ “เมลท์โบรน” ที่ทำจากเส้นใยพลาสติกพอลิโพรไพลีน (Polypropylene) หรือพีพี เพราะมีจุดหลอมเหลวต่ำเมื่อเทียบกับพลาสติกชนิดอื่นๆ จึงเหมาะจะนำมาหลอมขึ้นรูป โดยเส้นใยที่ได้จะมีลักษณะเล็กละเอียดในระดับนาโน – ไมโครเมตร ช่วยป้องกันเชื้อโรคหรือฝุ่นละอองขนาดเล็กแต่ยังระบายอากาศได้ดีกว่าวัสดุอื่น ๆ นอกจากนี้เส้นใยพีพียังมีน้ำหนักเบา ต้นทุนต่ำ และเหมาะแก่การใช้แล้วทิ้งอีกด้วย ในต่างประเทศเองแม้ว่าจะไม่นิยมใช้หน้ากากอนามัยประเภทนี้กันสักเท่าไร และบางส่วนก็เห็นว่าอุปกรณ์จำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ทางสมาคมครูผู้ฝึกดำน้ำมืออาชีพ (Professional Association of Diving Instructors: PADI) จึงนำขยะพลาสติกจากทะเล เช่น ขวดน้ำและตาข่าย มาแปรรูปเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ (Polyester) รีไซเคิลเพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัยทั่วไป (Non-medical grade face masks) ทางสมาคมระบุว่าหลังจากเปิดขายก็มีลูกค้าสั่งซื้อสินค้าเข้ามามากถึง 15,000 ออเดอร์ และช่วยรีไซเคิลขยะพลาสติกในทะเลไปแล้ว 1,267 ปอนด์ (575 กิโลกรัม)

คุณสมบัติที่ดีของพลาสติกยังถูกทำให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านนวัตกรรมนานาชนิดที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสที่ยังไม่มีวัคซีนรักษานี้ ตัวอย่างเช่น Personal Protective Equipment (PPE) หรืออุปกรณ์ป้องกันตนเองทางการแพทย์ ที่ทำจากพลาสติกโดยอาศัยคุณสมบัติสำคัญของวัสดุที่สามารถป้องกันของเหลวซึมผ่านได้เป็นอย่างดี, แว่นครอบตา (Goggles) และกระบังป้องกันใบหน้า (Face shield) ที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันใบหน้าและดวงตาจากละอองสารคัดหลั่งระหว่างทำหัตถการ (Swab) หรือใกล้ชิดผู้ป่วย ส่วนมากทำจากพอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate: PC) เพราะแข็งแรงทนทาน ทนรอยขีดข่วนได้ดี แต่ยังมีความใสและน้ำหนักเบา, ชุดหมี (Coverall) และชุดกาวน์ (Medical gown) ช่วยป้องกันผู้สวมใส่จากของเหลวหรือของแข็งที่ติดเชื้อ รวมถึงการซึมผ่านของสารเคมีและเชื้อโรคต่าง ๆ ตั้งแต่ศีรษะและลำตัวไปจนถึงข้อมือและข้อเท้า แต่ยังสามารถระบายอากาศได้ดี โดยอุปกรณ์ทั้งสองชนิดทำจากเส้นใยพลาสติกประเภทพอลิโพรไพลีน (Polypropylene) และพลาสติกพอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น (LLDPE) นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่ทำจากพลาสติกที่น่าสนใจ เช่น อุปกรณ์ป้องกันเชื้อแบบเคลื่อนที่ (Mobile Isolation Unit) อาทิ ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ (Negative/Positive Pressure Isolation Chamber), แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ (Patient Isolation Capsule) และแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบขนาดเล็ก สำหรับเข้าเครื่อง CT Scan (Small Patient Isolation Capsule for CT Scan) โดยอุปกรณ์เหล่านี้มีวัสดุหลักเป็นพลาสติกประเภทพอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl chloride: PVC) ทั้งแบบใสและแบบผ้าใบ เพื่อให้สามารถมองเห็นทะลุผ่านได้อย่างชัดเจนและไม่มีแสงสะท้อน อีกทั้งยังสามารถใช้งานซ้ำได้หลายครั้งผ่านการทำความสะอาดด้วยวิธีการฆ่าเชื้อของโรงพยาบาล

ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดนั้น พลาสติกเองก็มีส่วนให้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตได้ปลอดภัยมากขึ้น การสั่งอาหารแบบส่งถึงบ้านช่วยส่งเสริม Social Distancing และเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 อาหารหลากชนิดที่ในอดีตสามารถเน่าเสียได้ง่าย เมื่อนำมาทำให้สุกและใส่ไว้ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกก็จะมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น นั่นทำให้เราสามารถสำรองอาหารและน้ำดื่มสะอาดไว้ใช้บริโภคและอุปโภคในช่วงโรคระบาดได้อย่างสะดวกสบาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวถูกผลิตซ้ำผ่าน Lauren Singer นักแสดงสาวชื่อดังและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมตัวยงที่มีไลฟ์สไตล์แบบ Zero Waste จากนิวยอร์ก ซิตี้ โดยเธอได้ออกมาโพสต์ผ่านไอจีที่มีผู้ติดตามกว่า 400,000 คน ว่า “ในช่วงโควิด-19 นี้ ฉันจำยอมต้องสละแนวคิดที่ฉันถือปฏิบัติมาตลอด และซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นพลาสติก” ในระดับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ต่างกลับมาทบทวนแผนการแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวกันอีกรอบ ประเทศในเอเชียอย่างอินเดียเลื่อนการห้ามใช้ถุงพลาสติกและขวดน้ำพลาสติกออกไปในรัฐทมิฬนาฑู ร้านค้าทั่วเกาะอังกฤษไม่คิดค่าถุงสำหรับการชอปออนไลน์เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา หลายรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Maine, California, Oregon และ New Hampshire ยกเลิกการห้ามใช้ถุงพลาสติกและชุดอุปกรณ์ใช้รับประทานอาหารที่ทำจากพลาสติกออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยทั้งหมดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับประชาชนในประเทศ

ขยะพลาสติก: การคิดแบบองค์รวมคือทางออก ?
แน่นอนว่าก่อนการอุบัติขึ้นของโรคระบาด ปัญหาการจัดการขยะถือเป็นสิ่งท้าทายของคนทั่วโลก และแม้แต่ในวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่สังคมมนุษย์กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ เรื่องดังกล่าวยังคงเป็นสิ่งจำเป็นและทุกภาคส่วนต้องกลับมาทบทวนลำดับความสำคัญกันใหม่ โดยเราสามารถวิเคราะห์ประเด็นการจัดการ ขยะพลาสติก ออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างรวมตั้งแต่ภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน

หน่วยงานภาครัฐควรเร่งผลักดันข้อบังคับและมาตรการการจัดการขยะที่พุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการคัดแยกขยะในระดับครัวเรือน และการบริหารจัดการของเสียให้เป็นศูนย์ โดยเน้นไปที่การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ กิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นจริงได้ ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ฟังก์ชันที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการก็คือ การมีส่วนสำคัญในการกำหนดและริเริ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ เพราะนั่นจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะของทุกยูนิตในสังคมอย่างยั่งยืน รวมถึงช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแง่ของการจ้างงานที่มีคุณค่า สอดคล้องกับหลักอาชีวอนามัย และส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในเรื่องการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ในส่วนของประชาชนเอง การคัดแยกขยะตั้งแต่แหล่งการเกิดขยะเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วยเพิ่มโอกาสในการนำวัสดุเข้าสู่กระบวนการแปรรูปและนำกลับมาใช้งานอีกครั้งหนึ่ง หลายคนอาจจะยังแย้งในใจว่าขยะที่แยกไว้อย่างดีนั้น สุดท้ายก็ถูกนำไปเททิ้งรวมกันหลังรถขยะและจบลงที่หลุมฝังกลบ ในความเป็นจริงมีการแยกขยะ โดยเจ้าหน้าที่ประจำรถขยะจะเป็นด่านแรกที่ทำให้เกิดกิจกรรมดังกล่าว จากนั้นเมื่อขยะเดินทางไปถึงโรงรับขยะก็จะมีการคัดแยกขยะด้วยมือและใช้เครื่องจักรเข้าช่วย ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจจะถูกนำมาสื่อสารน้อย เพราะภาพจำด้านลบที่หลายคนเห็นขยะถูกเทรวมกันนั้นมีอิทธิพลมากกว่า ยิ่งในช่วงของการเกิดโรคระบาดโควิด-19 นี้ เรายิ่งต้องให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะที่ต้นทางเป็นพิเศษ เพราะขยะติดเชื้ออย่างหน้ากากอนามัยที่ถูกทิ้งปะปนไปกับขยะอื่น ๆ โดยเฉพาะขยะพลาสติกจากอาหารและสินค้าเดลิเวอรี่ ทำให้เกิดอันตรายต่อพนักงานเก็บขยะ และหากถุงขยะดังกล่าวยังไมได้ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี อาจเป็นส่วนหนึ่งของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในระลอกต่อมาอีกด้วย ดังนั้น เราควรแยกทิ้งหน้ากากอนามัย มัดถุงให้มิดชิดและติดป้ายให้ชัดเจนเสมอ

สำหรับภาคเอกชนเองที่ก่อนหน้านี้เน้นการพัฒนาพลาสติกเพื่อความยั่งยืนตามหลักเศรฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาพลาสติกให้รีไซเคิลได้ง่ายขึ้น (Recyclable) ลดการใช้ทรัพยากรการผลิต (Reduced material use) แต่เพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุ และการนำขยะพลาสติกมาหมุนเวียนเพื่อใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบต่อไป อาจจะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในประเด็นของการหารือแนวทางการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมกับเครือข่ายต่าง ๆ ที่ต้องครอบคลุมความร่วมมือระดับประเทศ ตัวอย่างเช่น โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ที่นำขยะพลาสติกซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลับคืนสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน และความร่วมมือระดับนานาชาติ ได้แก่ Alliance to End Plastic Waste และ The Ocean Cleanup ที่มีบริษัทชั้นนำของประเทศไทยอย่าง เอสซีจี เป็นฟันเฝืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงาน นอกจากนี้ภาคเอกชนยังต้องให้ความสำคัญกับการคิดค้นวิธีการนำ ขยะพลาสติก ที่ติดเชื้อซึ่งเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงโรคระบาดกลับมาใช้ได้ใหม่ โดยต้องทำให้ผู้ใช้งานเชื่อมั่นได้ว่าวัสดุพลาสติกที่นำกลับมาหมุนเวียนใช้นั้นจะปลอดเชื้อ 100% โดยในปัจจุบันขยะพลาสติกติดเชื้อพวกนี้มีปลายทางสุดท้ายอยู่ที่เตาเผาชีวมวล ซึ่งในระยะยาวมีแนวโน้มทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ

วิกฤติโควิด-19 ช่วยทำให้สังคมได้กลับมาประเมินคุณค่าของพลาสติกในมุมมองใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ถูกถาโถมด้วยกระแสความเป็นผู้ร้ายที่ทำลายสิ่งแวดล้อม การปรับเลนส์ที่ใช้มองวัสดุมหัศจรรย์นี้เป็น New Normal ที่ไม่ใช่แค่ทุกคนในสังคมต้องปฏิบัติตาม แต่มันยังรวมถึงการหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้สิ่งประดิษฐ์ด้านวัสดุศาสตร์ของโลกชิ้นนี้ถูกใช้งานอย่างยั่งยืน

อ้างอิง:

https://www.theguardian.com/environment/2020/mar/27/rightwing-thinktanks-use-fear-of-covid-19-to-fight-bans-on-plastic-bags
https://www.politico.com/news/2020/04/14/coronavirus-risks-a-return-of-the-throwaway-culture-187464
https://www.politico.eu/article/coronavirus-risks-shift-back-to-throw-away-culture/
http://www.tei.or.th/th/blog_detail.php?blog_id=51
https://edition.cnn.com/2020/04/22/us/face-masks-ocean-plastic-coronavirus-trnd/index.html
https://www.weforum.org/agenda/2020/05/plastic-pollution-waste-pandemic-covid19-coronavirus-recycling-sustainability/
https://blogs.worldbank.org/voices/plastics-coronavirus-could-reset-clock
https://time.com/5831005/coronavirus-plastic-industry/

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.

This website uses cookies to improve user experience. By using our website you consent to all cookies in accordance with our privacy policy. เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Performance

    Performance cookies are used to see how visitors use the website, eg. analytics cookies. Those cookies cannot be used to directly identify a certain visitor.

บันทึกการตั้งค่า