7 เทรนด์ ‘การผลิตและบรรจุภัณฑ์’ ที่ธุรกิจยุคใหม่ไม่ควรมองข้าม

7 เทรนด์ ‘การผลิตและบรรจุภัณฑ์’ ที่ธุรกิจยุคใหม่ไม่ควรมองข้าม

ถ้ากล่าวถึงเทรนด์ ‘การผลิตและบรรจุภัณฑ์’ ในยุคนี้ นอกจากจะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ มาตรฐาน ความสวยงาม และตอบสนองการใช้งานของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นแล้ว ยังต้องมีความโดดเด่นที่ตอบโจทย์ “ความยั่งยืน” โดยเฉพาะความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตจากวัสดุย่อยสลายได้ง่าย นำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตและบรรจุภัณฑ์ด้วย

และเพื่อเป็นแนวทางให้ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการได้นำไปปรับใช้เพื่อพัฒนา การผลิตและบรรจุภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์การใช้งานและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคนี้ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้จัดงาน ProPak Asia 2022 ได้สรุป 7 เทรนด์ การผลิตและบรรจุภัณฑ์ มาอัปเดตกัน ดังนี้

The Great Resignation to The Manpower of Nowhere จากการลาออกครั้งใหญ่ สู่การทำงานที่ไร้ซึ่งกรอบสถานที่และเวลา
สืบเนื่องจากสถานการณ์ The Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ของแรงงานทั่วโลก กำลังลุกลามจากฝั่งคนทำงานออฟฟิศไปสู่แรงงานในภาคการผลิต ที่มองเห็นโอกาสจากการขยายตัวของความเจริญไปสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และเครือข่ายโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง ซึ่งนี่เป็นเพียงฉากแรกของการลาออกเท่านั้น เพราะฉากต่อไปยังมีเรื่องของรถไฟฟ้าความเร็วสูงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ปรากฎการณ์นี้ทำให้แรงงานไม่จำเป็นต้องกระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมอีกต่อไป แรงงานจะพึงพอใจกว่าถ้าได้ทำงานที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบของสถานที่และเวลา และที่สำคัญการจ้างงานก็มีแนวโน้มที่จะเป็นการจ้างระยะสั้นลงเรื่อยๆ โดยขึ้นอยู่กับความพึงใจของแรงงานเป็นหลัก ทั้งนี้หลักประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานของภาครัฐก็ยิ่งตอบโจทย์ให้แรงงานสามารถทำงานได้อย่างอิสระขึ้นด้วย เจ้าของธุรกิจจึงจำเป็นต้องหาโซลูชั่นใหม่ๆ ที่จะพึ่งพาแรงงานมนุษย์ให้น้อยที่สุด

Rising of Automation ยุคของระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์
วิวัฒนาการของเครื่องจักรและหุ่นยนต์อัตโนมัติ ได้แปรเปลี่ยนจากการเป็นแค่นิทรรศการอุตสาหกรรมราคาแพงที่เกินเอื้อม กลายมาเป็นตัวช่วยในกระบวนการผลิตได้ดียิ่งขึ้น จนกลายเป็นฟันเฟืองของอุตสาหกรรมยุคปัจจุบัน
โดยเฉพาะหลังจากการหยุดชะงักของซัพพลายเชนทั่วโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การปรับปรุงการประเมินความเสี่ยงในการผลิต กลายเป็นประเด็นสำคัญ และทำให้ผู้ประกอบการทั่วโลกควบคุมความเสี่ยงจากการใช้แรงงานคน ปรับปรุงกระบวนการการผลิตให้มีประสิทธิภาพ และมองเห็นปัจจัยความเสี่ยงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยหนึ่งในเทรนด์อุตสาหกรรมที่กำลังมาแรงก็คือ การใช้ หุ่นยนต์และเครื่องจักร Automations และกึ่งอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งเทรนด์นี้เริ่มจะเปลี่ยนจากการใช้อุปกรณ์ไฮเทคแบบชั่วครั้งชั่วคราว ก้าวสู่ความเป็น Smart Factory และ Smart Processing เต็มระบบมากยิ่งขึ้น อาทิ การใช้เครื่องจักรรุ่นใหม่ที่มีเซ็นเซอร์ในตัว สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างละเอียด พร้อมเครื่องมือตรวจสอบ

Practical 5G & IIoT (Industrial Internet of Things) ติดสปีดการผลิตด้วย 5G และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วย AI
ในประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ได้มีการทดลองใช้เทคโนโลยี 5G & IIoT (Industrial Internet of Things) กันไปแล้ว และเริ่มมีการออกสินค้าอุตสาหกรรมที่รองรับเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ผู้ประกอบการได้นำมาประยุกต์ใช้กันแล้ว
โดยเฉพาะในการใช้ระบบ M2M หรือ Machine to Machine ที่สามารถสั่งการเครื่องจักรด้วยการส่งข้อมูลหากันอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ AI ที่ฝังอยู่ในเครื่องจักรแต่ละตัวสามารถเรียนรู้ ประมวลผล และทำงานสอดรับกันได้อย่างแนบสนิท ไร้รอยต่อ ลดทั้งการใช้แรงงานคน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการวัตถุดิบและพลังงาน ตลอดจนลดความเสียหายของผลผลิต
หรือในกรณีที่ต้องมีการซ่อมบำรุงด้วยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เซนเซอร์ที่ติดตั้งไว้จำนวนมาก ส่งข้อมูลไปอย่างรวดเร็ว ประมวลผลเป็นภาพ 3 มิติ แบบ Augmented Reality หรือ AR ควบคุมการซ่อมได้จากต่างประเทศโดยตรง โดยเทคโนโลยีสุดล้ำนี้เรียกว่า Virtual Digital Twin in Manufacturing
3D printing เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เทคโนโลยีการพิมพ์
The Evolution of 3D Printing Materials เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ตัวช่วยของ การผลิตและบรรจุภัณฑ์ ยุคใหม่
เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตของบริษัทขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งระดับ SMEs เพราะเทคโนโลยีด้านวัสดุในปัจจุบัน ทั้งจาก เส้นพลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายขนสัตว์ และโลหะ สามารถพิมพ์ลงบนวัสดุโดยใช้เทคนิคการพิมพ์ซ้อนทับลงไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นรูปทรง 3 มิติ ที่จับต้องได้ สร้างความน่าสนใจให้กับการผลิตและบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นได้
เช่น การผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ของเครื่องจักร ที่ช่วยลดระยะเวลาการรอคอยและการนำเข้า ไปจนถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ ที่นอกจากจะลดต้นทุนและลดระยะเวลาการผลิตลงได้ 40%-50% แล้ว ยังสามารถช่วยให้บริษัทต่างๆ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้รวดเร็วยิ่งขึ้น หรือทำการทดลองตลาดได้ง่ายขึ้นด้วย

Intelligent Packaging แพคเกจจิงอัจฉริยะ ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่
นอกจากความสวยงาม สื่อสารจุดแข็งของแบรนด์ ส่งเสริมจุดเด่นของสินค้า และง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลแล้ว บรรจุภัณฑ์ยุคใหม่ต้องทำหน้าที่ที่หลายหลากมากขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็น การเป็นตัวช่วยในการตรวจสอบย้อนกลับให้รู้แหล่งผลิต กระบวนการ หรือบอกคุณภาพความสดใหม่ ช่วยยืดอายุของสินค้า ลดการเติบโตของเชื้อรา แบคทีเรีย ไปจนถึงลดการกัดกร่อนกำจัดก๊าซที่เกิดจากระบวนการขนส่งหรือจัดจำหน่าย ไปจนถึงบ่งชี้ความสดใหม่ เปลี่ยนสีเมื่อหมดอายุ
โดยทำงานผ่านเซ็นเซอร์ (Sensors) ตัวบ่งชี้ (Indicators) และข้อมูล (Data Carriers) อย่างตัวบ่งชี้อุณหภูมิ-เวลา (TTIs) เป็นต้น ซึ่งการตรวจสอบย้อนกลับได้จะมีผลอย่างมากในการจัดการความยั่งยืนแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้บรรจุภัณฑ์แต่ละชิ้นที่ถูกใช้แล้วหมุนเวียนกลับไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้อีกครั้ง

Packaging for UAV (Unmanned Aerial Vehicle) ปลดล็อคบรรจุภัณฑ์ไปสู่การออกแบบเพื่อใช้กับการส่งด้วยโดรน
ในปี 2021 Wing บริษัทโดรนของ Alphabet เผยสถิติว่ามียอดขนส่งของถึง 1 แสนครั้ง แต่ในปัจจุบัน Wing ได้ทำสถิติส่งสินค้าเชิงพาณิชย์ ได้ถึง 2 แสนครั้งแล้วภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี นั่นเท่ากับว่า Wing มียอดบินโดรนส่งสินค้ามากกว่า 1,000 ครั้งต่อวัน หรือคิดเป็นการส่งดิลิเวอรี่ผ่านโดรน 1 ครั้งในทุก 25 วินาที นี่นับเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่ยืนยันว่าเทรนด์การส่งของด้วยโดรนเกิดขึ้นแล้ว
โดยโดรนเป็นหนึ่งในอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) ที่น่าจับตามอง เป็นโซลูชันของการขนส่งสินค้าอัตโนโมัติ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในวงการโลจิสติกส์ มีความรวดเร็วในการขนส่ง แต่เมื่อวิธีการขนส่งเปลี่ยนแปลงไป ความท้าทายถัดมาก็คือวัสดุและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับรูปแบบการขนส่งผ่านโดรน ที่มีโจทย์ต้องคำนึงถึง ทั้งในแง่ความแข็งแรง น้ำหนัก และการป้องกันความเสี่ยงจากสภาพอากาศ นั่นเอง

Sustainability Pressures ทุกมิติของความยั่งยืน ที่ภาคการผลิตและบรรจุภัณฑ์ปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไป
ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม มนุษยธรรม และการกระจายรายได้ เป็นเรื่องที่ภาคอุตสาหกรรมไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป เพราะในอนาคตประเด็นเหล่านี้จะถูกหยิบยกมาตั้งคำถาม ทั้งจากผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น หรือจากนโยบายของประเทศคู่ค้า ทำให้ผู้ผลิตต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนกันตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง และบรรจุภัณฑ์
โดยนอกจาก SDGs: Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ที่พูดถึงการสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ สุขภาพ และการศึกษาแล้ว ในด้านสิ่งแวดล้อมยังมี EPR: Extended Producer Responsibility หรือ หลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่างๆของวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์ เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อย่างครบวงจร
ตั้งแต่การออกแบบ กระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด EU Green Deal นโยบายของภูมิภาคยุโรปที่ตั้งกำแพงปิดกั้นการนำเข้าผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืนจากภูมิภาคอื่น เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแรงกดดันจากทุกทิศทุกทางเหล่านี้ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ต้องหันกลับมาทำ Brand Audit เพื่อตรวจสอบแบรนด์ ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนกันอย่างหนักหน่วง เพื่อหาหนทางทำให้ธุรกิจอยู่รอดในยุคที่ ความยั่งยืน เป็นใหญ่นี้ด้วย

ที่มา: https://www.salika.co/2022/05/18/7-trends-for-manufacturing-and-packaging-2022/

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.

This website uses cookies to improve user experience. By using our website you consent to all cookies in accordance with our privacy policy. เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Performance

    Performance cookies are used to see how visitors use the website, eg. analytics cookies. Those cookies cannot be used to directly identify a certain visitor.

Save