ข้อเท็จจริง “พลาสติกย่อยสลายได้ในสภาวะแวดล้อมธรรมชาติ” (Environmentally Degradable Plastics: EDP)

ข้อเท็จจริง “พลาสติกย่อยสลายได้ในสภาวะแวดล้อมธรรมชาติ” (Environmentally Degradable Plastics: EDP)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในทศวรรษนี้เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน (transition) จากเศรษฐศาสตร์แบบเชิงเส้น (linear economy) เป็นเศรษฐศาสตร์หมุนเวียน (circular economy)  เศรษฐศาสตร์แบบเชิงเส้นนั้นมุ่งเน้นไปในการนำทรัพยากรจากธรรมชาติเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์  เมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นถูกใช้งานและสิ้นสุดการใช้งานก็จะกลายเป็นของเสียหรือเรียกสั้นๆ ว่า Take-Make-Waste (Ellen MacArthur Foundation, 2019) ในขณะที่เศรษฐศาสตร์หมุนเวียนจะสนใจการออกแบบผลิตภัณฑ์ตลอดช่วงชีวิต (Ellen MacArthur Foundation, 2017) ตั้งแต่การแทนที่ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปด้วยทรัพยากรที่เกิดทดแทนได้ (renewable resources) ไปจนถึงทางเลือกในการจัดการหลังการใช้งาน (End-of-life option) ไม่ว่าจะเป็นการรีไซเคิลหรือการนำส่วนประกอบต่างๆ หมุนเวียนคืนสู่ธรรมชาติอย่างสมดุลและปลอดภัย


ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกก็เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่กำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน การออกแบบนั้นก็ควรต้องคำนึงถึงผลกระทบอย่างครบถ้วน รวมทั้งมีระบบจัดการที่รองรับกับพลาสติกหลังการใช้งาน พลาสติกที่แตกสลายทางชีวภาพได้ (biodegradable plastics) หรือที่คนทั่วไปเข้าใจในชื่อ “พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” (โดยผู้เขียนจะใช้คำนี้ตลอดบทความนี้เพื่อให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าใจได้ง่าย) เป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนผ่านนี้เนื่องจากแหล่งวัตถุดิบนั้นมาจากทรัพยากรที่เกิดทดแทนได้เอง ในขณะที่จะต้องเพิ่มการรีไซเคิลของพลาสติกทั่วไป การออกแบบให้การใช้งานมีอายุนานขึ้น และการจัดการหลังการใช้ ดังนั้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องสำหรับผู้ใช้และผู้บริโภค ผู้เขียนจึงได้อธิบายเกี่ยวกับ“พลาสติกที่ย่อยสลายได้ในสภาวะแวดล้อมธรรมชาติ” (Environmentally Degradable Plastics: EDP) ที่เป็นคำที่กำลังถูกนำมาใช้กันในบางประเทศ


ปัจจุบัน มีการใช้ศัพท์ที่เกี่ยวข้อง 2 คำ คือ พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (biodegradable plastic) และพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (compostable plastic) ทั้งสองคำนี้มีความหมายแตกต่างกัน กล่าวคือ “พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (biodegradable plastic)” หมายถึง การที่พลาสติกแตกออกโดยกิจกรรมของจุลินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิต โดยทั่วไป ถ้าจะให้เกิดการย่อยอย่างสมบูรณ์ (น้ำ คาร์บอนไดออกไซด์หรือมีเทน และชีวมวล) จะต้องมีสภาวะที่เหมาะสม (เช่น จุลินทรีย์ ความชื้น และความร้อน เป็นต้น) ถ้าพลาสติกนี้ถูกทิ้งในสภาวะแวดล้อมทั่วไป ไม่ว่าจะในหลุมฝังกลบ หรือรั่วไหลลงทะเล ก็จะแตกออกเป็นชิ้นเล็กได้และอาจจะเล็กลงไปเป็นไมโครพลาสติกซึ่งจะสะสมในธรรมชาติมากขึ้นและเป็นระยะเวลานานได้

 


 

ในขณะที่ “พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (compostable plastic)” หมายถึงพลาสติกที่สามารถสลายตัวได้เป็นแร่ธาตุและสารประกอบในธรรมชาติ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และชีวมวล พลาสติกชนิดนี้สามารถสลายตัวทางชีวภาพในสภาวะควบคุมที่เหมาะสมในการหมักปุ๋ยระดับอุตสาหกรรมหรือเครื่องหมักปุ๋ยจากเศษอินทรีย์ เมื่อพลาสติกประเภทนี้อยู่ในธรรมชาติปกติก็จะไม่สามารถสลายตัวได้ ดังนั้น พลาสติกที่มีการติดป้าย “compostable” (โดยนัยยะว่าเป็นพลาสติกที่ควรผ่านมาตรฐานตามข้อกำหนดสากล ISO 17088, EN13432 หรือ ASTM 6400) จะช่วยทำให้การจัดเก็บรวบรวมนำไปจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การนำไปผ่านกระบวนการทำปุ๋ยหมักที่มีแร่ธาตุหรือได้ฮิวมัส (humus) สามารถนำไปปลูกพืชต่อไป ในขณะที่พลาสติกที่ติดป้าย “biodegradable” จะไม่สามารถบอกถึงการนำไปกำจัดหรือจัดการได้


ตั้งแต่อดีต อุตสาหกรรมพลาสติกพยายามแก้ปัญหาพลาสติกที่มีคุณสมบัติคงทนมาก ย่อยสลายได้ยากในธรรมชาติด้วยการเติมสารเติมแต่งประเภทแป้งหรือสารอินทรีย์อื่นๆ เมื่อแป้งถูกจุลินทรีย์ย่อยแล้ว เศษชิ้นส่วนพลาสติกก็จะแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งในช่วงปีทศวรรษ 1980s ผู้ผลิตเรียกพลาสติกในลักษณะนี้ว่า เป็น “พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” (biodegradable plastics) ต่อมาในปี ค.ศ. 1994 Narayan et al. ได้ออกมาบ่งชี้ว่า การเติมแป้ง (ร้อยละ 6-15) ในพลาสติกประเภทโพลิเอทิลีน (PE) โพลิโพรพิลีน (PP) ในความเป็นจริงเป็นกระบวนการทำให้พลาสติกแตกตัว (disintegration หรือ fragmentation) เท่านั้น มิได้ย่อยสลายได้ทางชีวภาพอย่างสมบูรณ์ มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า ส่วนผสมที่เป็นแป้งหรือสารอินทรีย์เท่านั้นที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ แต่พลาสติก PE หรือ PP ที่มีคุณสมบัติย่อยสลายยากยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อม (Rudnik, 2012; Bioplastics Division of Plastics Industry Association, 2018)


ทั้งนี้ พลาสติกที่มีการเติมสารเติมแต่งเพื่อเร่งให้พลาสติกแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ เร็วขึ้นนั้นถูกเรียกว่าเป็นพลาสติกชนิดออกโซ (Oxo-degradable)  ในหลายกรณี ผู้ผลิตเลี่ยงไปใช้คำว่า Oxo-biodegradable เพื่อให้ดูว่าย่อยสลายได้ทางชีวภาพ แต่แท้ที่จริงก็เป็นพลาสติกประเภทเดียวกัน (European Commission, 2018) สารเติมแต่งในกลุ่มนี้จะช่วยทำให้พลาสติกทั่วไป เช่น PE, PP, PS, PET, PVC แตกตัวเป็นชิ้นเล็กลงและมีจำนวนมากขึ้น โดยจะเกิดขึ้นในสภาวะที่มีแสง ความชื้นหรือความร้อน หรือสภาวะทางกายภาพ (สภาวะอากาศ)

 

 

จากความสับสนเกี่ยวกับ “พลาสติกที่ย่อยสลายได้” ดังกล่าว ทำให้หน่วยงานระหว่างประเทศที่รับผิดชอบเรื่องมาตรฐาน อาทิ International Organization for Standardization (ISO), American Organization for Standardization (ASTM), European Organization for Standardization (EN) ได้พัฒนาคำจำกัดความและมาตรฐานเกี่ยวกับการย่อยสลายได้ของพลาสติกซึ่งจะต้องไม่เพียงแต่ “ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” (biodegradable) แต่จะต้องแปรสภาพเป็นปุ๋ยได้หรือสลายตัวได้ทางชีวภาพ (compostable plastic)  (compostable) ด้วย โดยในปัจจุบันมาตรฐานสากลที่รับรองว่าเป็น “พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ” (compostable plastics) ได้แก่ ISO 17088 (สากล), ASTM D6400 (สหรัฐอเมริกา), EN 13432 (ยุโรป), มอก. 17088-2555 (ไทย)[1]

ตัวชี้วัดสำคัญที่แสดงว่า พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ คือ การวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นดัชนีแสดงกิจกรรมจุลินทรีย์ในดิน โดยมาตรฐาน มอก.17088-2555 และมาตรฐานพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ (compostable plastic standards) ต่างๆ กำหนดให้คาร์บอนต้องเปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นตามทฤษฎี ภายในระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน

ส่วนพลาสติกชนิดออกโซ (Oxo-degradable plastic) นั้น นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนได้ตรวจสอบระดับการย่อยสลายได้ทางชีวภาพและความเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่บ่งชี้ว่า พลาสติกที่เกิดจากกระบวนการ oxidation หรือกระบวนการย่อยสลายได้ด้วยแสง ความร้อน ฯลฯ แล้ว พลาสติกที่แตกตัวเป็นชิ้นเล็กก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดว่า ชิ้นส่วนที่แตกออกนี้จะสามารถถูกย่อยโดยเอ็นไซม์ของจุลินทรีย์ได้ โดยกระบวนการย่อยสลายได้ทางชีวภาพต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานเกินกว่าระยะเวลาที่ผู้ผลิตพลาสติกออกโซกล่าวอ้าง ซึ่งกระบวนการนี้ย่อมจะทำให้เกิดปัญหาไมโครพลาสติกสะสมและตกค้างในสิ่งแวดล้อม และเพิ่มความเสี่ยงของการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ (รายละเอียดดูใน EU Report 2016; Bioplastics Division of Plastics Industry Association, 2018)


ด้วยเหตุนี้ ในช่วงปลายปี 2560 องค์กรต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจ กลุ่มพลาสติก เอ็นจีโอ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และมหาวิทยาลัยกว่า 150 องค์กร ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกแบนพลาสติกชนิดออกโซ (Ellen McArthur Foundation’s New Plastics Economy, 2017) นอกจากนี้ พลาสติกทั่วไป (PE, PP, PS, PET, PVC) ที่เติมสารชนิดออกโซยังไม่เหมาะกับการใช้ซ้ำ (เพราะอาจแตกเป็นชิ้นในระหว่างเก็บ) การรีไซเคิล (เมื่อปะปนกับพลาสติกทั่วไปจะทำให้กระบวนการพลาสติกรีไซเคิลมีคุณภาพที่ควบคุมไม่ได้หรือแย่ลง) หรือการทำปุ๋ย (European Commission, 2018) ทั้งนี้ สหภาพยุโรปอยู่ในระหว่างการออกกฎหมายเพื่อห้ามผลิตและใช้พลาสติกชนิดออกโซและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอื่น ๆ (Aljazeera, 28 March 2019) เช่นเดียวกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ
ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายที่จะยกเลิกการใช้พลาสติกชนิดออกโซและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอื่นๆ รวม 7 ชนิด (รูปที่ 1) ภายใต้ร่าง Roadmap การจัดการขยะพลาสติกและร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2562)

[1] กำลังปรับปรุงตาม ISO 17088

 

รูปที่ 1 พลาสติกที่ผสมสารอ็อกโซเป็น 1 ใน 7 ชนิดพลาสติกที่จะถูกยกเลิกใช้ในประเทศไทย (ที่มา: Facebook กรมควบคุมมลพิษ และ Wjiarn Simachaya 7 มกราคม 2562)

 

ในประเทศไทย ผู้ประกอบการมีการใช้สารเติมออกโซมามากกว่า 10 ปีและได้มีการสื่อสารว่าเป็น “พลาสติกที่ย่อยสลายได้” (degradable plastics) และยังบอกว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารพิษตกค้าง นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารว่า ผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ของบริษัทมิได้เป็นพลาสติกชนิดออกโซ (ทั้งๆ ที่เป็นกระบวนการเติมสารเติมแต่งในพลาสติกประเภท PE, PP) โดยอ้างว่าเป็น “พลาสติกย่อยสลายได้ในสภาวะแวดล้อมธรรมชาติ” (Environmentally Degradable Plastics: EDP) แต่ไม่มีการทดสอบตามมาตรฐาน มอก. 17088-2555 ตามที่กล่าวข้างต้น อีกทั้งผู้ประกอบการยังระบุในสื่อว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นใช้หลายกระบวนการในการทำให้พลาสติกแตกตัวและสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่เติมสารเติมแต่งประเภทออกโซและกลุ่มที่เติมแป้งลงไป แต่ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวขัดแย้งกับรายงานของ UNIDO (United Nations Industrial Development Organization องค์การพัฒนาอุสหกรรมแห่งสหประชาติ) ที่เป็นหน่วยงานเดียวที่อธิบายคำว่า “EDP” ไว้อย่างเป็นระบบที่ระบุว่า EDP ก็คือกลุ่มพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพนั่นเอง (UNIDO, 2003 และ 2007)


ในรายงาน UNIDO ยังกล่าวถึงประเภทพลาสติกที่ใช้ สามารถแบ่งเป็นพลาสติกธรรมชาติ เช่น แป้ง เพคติน (pactin) และพลาสติกที่มาจากการสังเคราะห์ เช่น พอลิแลคติคแอซิด (PLA) พอลิคาร์โปแลคโตน (PCL) เป็นต้น (UNIDO, 2007) นอกจากนี้ ในรายงานของ UNIDO ยังระบุว่า EDP เป็นกลุ่มสารโพลีเมอร์ธรรมชาติและโพลีเมอร์สังเคราะห์ที่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีภายใต้ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีจะต้องตามด้วยการย่อยสลายและการดูดซึมของจุลินทรีย์จนได้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ การย่อยสลายและการดูดซึมนี้ต้องเกิดขึ้นได้รวดเร็วเพียงพอที่จะไม่ทำให้เกิดการสะสมของสารในสภาวะแวดล้อม (UNIDO, 2003) ทั้งนี้ UNIDO ได้เน้นย้ำว่า อัตราการย่อยสลายทางชีวภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จะแยก EDP ออกจากโพลีเมอร์ เช่น PE ที่ไม่ย่อยสลายได้ และอัตราการย่อยสลายของ EDP จะอิงกับมาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์ว่าสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพและสลายตัวได้ทางชีวภาพ (UNIDO, 2003)

ในประเทศกำลังพัฒนา มีการนำแนวคิด EDP ไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง โดยใช้วิธีการอย่างง่าย ด้วยการเติมสารเติมแต่งที่ย่อยสลายได้ (ส่วนใหญ่เป็นแป้ง) ลงไปในพลาสติก (เช่น PE, PP) อ้างว่าเป็น “พลาติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” ซึ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากส่วนประกอบที่เป็นพลาสติกไม่ย่อยสลาย พลาสติกเพียงแค่แตกตัวเป็นชิ้นเล็ก สะสมและตกค้างในสิ่งแวดล้อมซึ่งจะทำให้ปัญหามลพิษที่มองเห็นได้กลายเป็นมลพิษที่มองไม่เห็นหรือเห็นได้ยาก (UNIDO, 2003)

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า  ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบของพลาสติกที่ย่อยสลายในสภาวะแวดล้อมธรรมชาตินั้น ควรมีการใช้วัตถุดิบในการผลิตและสารเติมแต่งที่เป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ ในขณะที่การทดสอบเพื่อขอใบรับรองนั้นก็สามารถทำได้ซึ่งในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยจะมีตราสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการได้รับรองมาตรฐานการทดสอบ (อ่านเพิ่มเติม www.tbia.or.th) ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนและเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ผู้บริโภคที่ต้องการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ ก็ควรตรวจสอบก่อนว่า ผลิตภัณฑ์นั้นได้มาตรฐานพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (compostable plastic) หรือไม่ ตามข้อกำหนด ISO 17088 หรือในเมืองไทย คือ มอก. 17088-2555 (ปรับมาจาก ISO 17088:2008) หรือ ASTM D6400 หรือ EN13432 และให้ดูสัญลักษณ์ที่รับรองผลิตภัณฑ์ เช่นในรูปที่ 2

 

รูปที่ 2 ตัวอย่างสัญลักษณ์รับรองพลาสติกที่สลายได้ทางชีวภาพและเป็นปุ๋ยได้ (ที่มา: UNIDO 2003)

 

หากผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้หรืออ้างมาตรฐานอื่นๆ [2] แต่กระบวนการผลิตมีลักษณะเติมสารเติมแต่ง (additives) ในพลาสติกทั่วไป เช่น PE, PP, PS, PET, PVC ให้คาดการณ์ได้ว่าน่าจะเป็นพลาสติกชนิดออกโซหรือที่เติมสารเติมแต่งซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการเพิ่มและสะสมของไมโครพลาสติก


สุดท้ายนี้ พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ (compostable plastics) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นยังคงมีราคาค่อนข้างแพงกว่าพลาสติกธรรมดา 2-3 เท่าซึ่งจะต้องอาศัยการสนับสนุนของภาครัฐ อีกทั้งยังต้องสร้างระบบการจัดการปลายทางหลังการใช้ผลิตภัณฑ์ด้วย กล่าวคือ ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรต้องสร้างระบบการเก็บรวบรวมพลาสติกประเภทนี้เป็นการเฉพาะและจัดให้มีโรงปุ๋ยหมักเชิงอุตสาหกรรม (ถ้าเป็นชนิด PLA) หรือโรงปุ๋ยหมักทั่วไป (ถ้าเป็นชนิด PBS) และควบคุมสภาวะที่เหมาะสมกับพลาสติกชีวภาพเพื่อให้สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพกลายเป็นปุ๋ยได้จริงๆ มิเช่นนั้น พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพก็อาจจะไม่ได้ย่อยสลายได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วตามที่ระบุมาตรฐานกำหนด (180 วัน) เช่นกัน


  [2] มาตรฐานอื่นๆ เช่น ASTM D5338, ASTM D5511, ASTM D5988, ASTM D6691, ASTM D6866 เป็นเพียงระเบียบวิธีการทดสอบ (Test Methodologies) มิใช่มาตรฐานข้อกำหนดพลาสติกสลายตัวได้ซึ่งจะมีการบ่งชี้ว่า ผ่าน/ไม่ผ่านตามข้อกำหนด รายละเอียดดูใน Bioplastics Division of Plastics Industry Association (PLASTICS) (2018)

 

เอกสารอ้างอิง

Aljazeera, 28 March 2019. EU parliament approves ban on single-use plastics. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2019/03/eu-parliament-approves-ban-single-plastics-190327182018338.html, accessed on 15 April 2019.

Bioplastics Division of Plastics Industry Association (PLASTICS) (2018). Position Paper on Degradable Additives. 13 pages. Retrieved from http://www.plasticsindustry.org/sites/default/files/2018%20PLASTICS%20-%20Position%20Paper%20on%20Degradable%20Additives.pdf, accessed on 15 April 2019.

Ellen McArthur Foundation’s New Plastics Economy (2017). Oxo-degradable plastic packaging is not a solution to plastic pollution, and does not fit in a circular economy. Retrieved from http://ecostandard.org/wp-content/uploads/oxo-statement.pdf, accessed on 15 April 2019.

Ellen McArthur Foundation website (2019) Retrieved from http://www.ellenmacarthurfoundation.org/circular-economy/what-is-the-circular-economy, accessed on 15 April 2019.

European Commission (2018). Report from the Commission to the European Parliament and the Council on the impact of the use of oxo-degradable plastic, including oxo-degradable plastic carrier bags, on the environment

European Union (2016). The Impact of the Use of “Oxo-degradable” Plastic on the Environment.

Rudnik, E. (2012). “Compostable polymer materials: definitions, structures, and methods of preparation.” in Ebnesajjad, S. (ed). Handbook of Biopolymers and Biodegradable Plastics. 189-211.

United Nations Industrial Development Organization (UNIDO) (2003). Brief Guidelines on Environmentally Degradable Plastics (EDP). Retrieved from http://capacitydevelopment.unido.org/wp-content/uploads/2014/11/81.-EDP-Environmentally-Degradable-Polymeric-Materials-and-Plastics-Brief-Guidelines.pdf accessed on 15 April 2019.

United Nations Industrial Development Organization (UNIDO) (2007). EDP Environmentally degradable Polymeric Materials and Plastics Retrieved from http://capacitydevelopment.unido.org/wp-content/uploads/2014/11/41.-Environmentally-Degradable-Polymeric-Materials-and-Plastics-Guidelines.pdf, accessed on 15 April 2019.

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. (2562). สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 17 เมษายน 2562. ค้นเมื่อ 19 เมษายน 2562, จากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเว็บไซต์:
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/19914

 

ตัวย่อที่ใช้PE = Polyethylene

PP = Polypropylene

PS = Polystyrene

PET = Polyethylene terephthalate

PVC = Polyvinyl Chloride

PLA = Polylactic acid

PBS = Polybutylene succinate

PCL = Polycaprolactone

UNIDO = United Nations Industrial Development Organization

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.

This website uses cookies to improve user experience. By using our website you consent to all cookies in accordance with our privacy policy. เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Performance

    Performance cookies are used to see how visitors use the website, eg. analytics cookies. Those cookies cannot be used to directly identify a certain visitor.

Save